เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคม เสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วย แพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้าน สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เต็มที่ พร้อมทั้งเสนอให้ถอดกัญชา กระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 โดยให้มีสถานะเป็น ‘พืชยา’ ที่ได้รับการควบคุมเฉพาะ และหลังจากนี้ทางเครือข่ายจะรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ให้ได้ครบ 10,000 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ในเวทีแถลงข่าว ‘ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน’ จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กพย.) และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 ได้นำเสนอหลักการและเหตุผลที่ต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ เนื่องจากกฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการพัฒนาของวงการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาและข้อจำกัดของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 (และฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562) แม้จะคลายล็อคกัญชาและกระท่อมให้สามารถนำมาศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ แต่ก็ยังคงกำหนดนิยามเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของกัญชา กระท่อม ในฐานะที่เป็นพืชยา อีกทั้งยังมีบทลงโทษทางอาญาที่ค่อนข้างรุนแรง
นอกจากนี้ การขออนุญาตผลิต (ปลูก) ทั้งกัญชาและกระท่อมยังมีความเข้มงวดมากเกินไป แม้ว่าจะเป็นการปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์หรือรักษาผู้ป่วย ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ‘คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ’
“พืชกระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติด ค.ศ. 1961 (Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) และพืชกระท่อมมีผลกระทบต่อผู้เสพหรือผู้บริโภคน้อยกว่ายาเสพติดให้โทษอื่นๆ อีกทั้งการบริโภคใบกระท่อมถือเป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของคนในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ มิได้เป็นสาเหตุของปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรมเหมือนกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
ไพศาลเสนอทางออกว่า กฎหมายควรเปิดกว้างให้มีการนำกัญชาและพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ มากขึ้น ดังนั้น เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยา กัญชา กระท่อม จึงเสนอให้มีร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับประชาชน เพื่อให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการพืชยา
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ
- ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม เป็นกฎหมายที่เน้นการส่งเสริมสนับสนุนการนำพืชยาเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย การส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เปิดโอกาสให้มีการใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
- กัญชา กระท่อม และพืชยาอื่น มีลักษณะจำเพาะ จึงควรมีกลไกการจัดการที่แตกต่างจากยาเสพติดให้โทษประเภทอื่นที่เป็นสารสังเคราะห์
- ร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ตามวิถีชุมชน วัฒนธรรมของชุมชนที่มีความพร้อม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 เรื่องสิทธิชุมชน
- สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 55 เรื่องรัฐมีหน้าที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชน และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การจัดการ ‘กระท่อม’ ควรแตกต่างจาก ‘กัญชา’ เนื่องจากกระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ
นิยามพืชยา
ในร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม ฉบับประชาชน ได้กำหนดนิยามของ ‘พืชยา’ หมายความว่า
- (1) กัญชา (Cannabis spp.)
- (2) กระท่อม (Mitragyna speciosa)
- (3) พืชยาอื่นที่มีฤทธิ์ทางยา ซึ่งมีส่วนประกอบของสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และมีสารสำคัญที่สามารถใช้ในการป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาความเจ็บป่วย รวมถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปตามที่รัฐมนตรีประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ทั้งนี้ พืชยาตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ส่วน ‘ธรรมนูญชุมชน’ หมายความว่า กติกาของชุมชนที่สมาชิกของชุมชนตกลงร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการใช้ การครอบครอง หรือการใช้ประโยชน์อื่นใดจากพืชยา เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย บรรเทาอาการของโรคบางอย่าง รวมถึงการใช้ประโยชน์อื่นใดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม จารีตประเพณีของสมาชิกของชุมชนท้องถิ่น โดยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน
การปลูก ผลิต และครอบครอง
มาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ระบุว่า การปลูก ผลิต หรือครอบครองพืชยาหรือผลิตภัณฑ์จากพืชยา เพื่อใช้ในการผลิตยาตามตำรับยาแผนปัจจุบัน หรือตำรับยาแผนไทยของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทยและด้านเภสัชกรรมไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อการรักษาผู้ป่วยเฉพาะราย ให้เป็นไปตามกฎหมายยาหรือกฎหมายวิชาชีพนั้นๆ โดยไม่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
มาตรา 7 การปลูก การครอบครอง และการใช้ประโยชน์จากกระท่อมในกรณีต่อไปนี้ ไม่ต้องขออนุญาต และไม่ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
- (1) การปลูกกระท่อมของบุคคลจำนวนไม่เกินสามต้นในที่ดินที่บุคคลนั้นมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย
- (2) การใช้ การครอบครองกระท่อมหรือผลิตภัณฑ์ยาที่ทำจากกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน บำบัดโรค หรือบรรเทาอาการของโรคของบุคคล หรือเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์
- (3) การใช้ การครอบครองกระท่อมตามวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น และมิได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น
- (4) การต้ม การผลิตหรือแปรสภาพกระท่อมที่มิได้มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
- (5) การดำเนินการอื่นๆ ตามธรรมนูญชุมชน
- (6) กรณีอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
สถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวเพิ่มว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะให้จัดตั้งสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น ให้สถาบันมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี
ในบทเฉพาะกาล ระบุด้วยว่า ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และเงินงบประมาณของ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด หน่วยงานในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ส. ไปเป็นของสถาบันพืชยาฯ ตามพระราชบัญญัตินี้
ให้โอนพนักงานของสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ไปเป็นพนักงานของสถาบันตามพระราชบัญญัตินี้
ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนไว้ที่สถาบันปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการจ่ายขาดเพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้นให้แก่สถาบันที่จัดตั้งขึ้นดังกล่าวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการดำเนินการของสถาบันเป็นอย่างต่อเนื่อง
ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปว่า จากเหตุผลและหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พืชยาฯ ฉบับนี้ จะก่อให้เกิดแนวทางการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์กัญชา กระท่อม และพืชยาอื่นอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถนำกัญชา กระท่อม พืชยาอื่นมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ให้แก่คนไทยได้อย่างถูกกฎหมาย ผู้ป่วยและประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากพืชยาที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และปลอดภัย ไม่ถูกหลอกลวง รวมถึงช่วยให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าเชื่อถือได้
ที่สำคัญจะมีการควบคุมดูแลการผลิต จำหน่าย และการโฆษณาแก่ประชาชน ในลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ยา โดยมีสถาบันพืชยา กัญชา กระท่อมแห่งชาติ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้ และการติดตามเฝ้าระวังอันตรายอย่างสมดุล เป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การผลิต และการใช้ในโรงพยาบาล ร้านขายยาและการใช้เองของชุมชน ตลอดจนกำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลด้วย