กระท่อม-กัญชา​ ถึงเวลาต้องตัดสินใจ

เส้นแบ่งระหว่างยาเสพติดกับยารักษาโรคของพืชในตำนานอย่างกัญชา-กระท่อม ในประเทศไทยยังคงถกเถียงกันว่า เราควรจัดให้พืชชนิดนี้อยู่ในหมวดหมู่ใดกันแน่ ขณะที่หลายประเทศได้ยกระดับสู่การศึกษาวิจัย และนำไปใช้ในทางการแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วงสัมมนาวิชาการ​ ‘การใช้กัญชา​ กระท่อม ในการบำบัดโรค​: ปัญหาและทางออก’ ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์​ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่​ 12​ ตุลาคม​ 2561 ที่ผ่านมา​ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การชี้ให้เห็นว่า การใช้กัญชาและกระท่อมเพื่อบำบัดโรคนั้นนำไปสู่ทางเลือกเช่นไรระหว่างปัญหาหรือทางออก?

​แม้ว่าสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) จะเสนอแนวคิดในการถอดถอนพืชกระท่อมและกัญชาให้พ้นจากบัญชียาเสพติดมาเป็นยารักษาโรค แต่สำหรับประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยาก นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์​ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มองว่า ปัญหาในการพิจารณาให้กัญชา​-กระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติดประเภท​ 5 มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. เป็นแม่งานหลัก​ ทว่าโครงสร้างของ ป.ป.ส. นั้นเทอะทะ และการประชุมเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดยังคงมุ่งไปที่การปฏิบัติมากกว่าการพิจารณาเชิงนโยบาย

กระท่อม กัญชา
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

ในแง่ข้อกฎหมายก็ยังมีอุปสรรคด้วยเช่นกัน​ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ​ พ.ศ.​ 2522 ทาง สนช. จึงเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมาย​ แต่สิ่งที่ นพ.เจตน์ พบคือเป็นเรื่องยากในการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง​ 7 ฉบับ มามัดรวมเป็นเล่มเดียว ​จึงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ​ พ.ศ. 2522 โดยมีใจความสำคัญอยู่ที่มาตรา​ 5 ที่ระบุว่า​ “… เพิ่มเติมให้คณะกรรมการ​ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจกำหนดพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท​ 5 ​ผลิตและทดสอบยาเสพติดประเภท​ 5 ​หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท​ 5 ​ในปริมาณที่กำหนดได้​ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบด้วย”

“ร่างแก้ไขนี้เราได้นำเสนอสภาแล้ว แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนประชาพิจารณ์ตามมาตรา 77 วรรค 2 ปลายเดือนตุลาคมนี้ โดยหวังว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า” นพ.เจตน์ กล่าว

ขณะที่​ ผศ.ภญ.นิยดา​ เกียรติยิ่งอังศุลี​ ผู้จัดการศูนย์​วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา​ (กพย.) ​จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ กล่าวถึงสถานการณ์​ล่าสุดว่า มติ ครม. ได้มีการอนุญาตให้องค์การเภสัชกรรมสามารถปลูกเพื่อใช้ในการรักษาได้​ ส่วนที่ประเทศแคนาดาเตรียมประกาศใช้กัญชาในการรักษาได้ทุกรูปแบบในวันที่​ 17 ตุลาคมนี้ รวมถึงประเทศอังกฤษ​ แพทย์จะสามารถสั่งยาโดยให้ใช้กัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป​ แม้ในภาพรวมของ​สหภาพยุโรป (EU) จะยังคงจำกัดการใช้กัญชาและกระท่อม​ แต่ก็ให้สิทธิ์แต่ละประเทศในการออกนโยบายเกี่ยวกับการใช้กัญชา​เพื่อการรักษาทางการแพทย์ได้

“เวลาที่เราพูดถึงประเด็นนี้ ควรมองที่สุขภาพของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งเรื่องการเข้าถึงและการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญด้วย”

ความเห็นของ​ ผศ.นพ.ปัตพงษ์​ เกษสมบูรณ์ ​จากคณะแพทยศาสต​ร์ มหาวิทยาลัย​ขอนแก่น​ มองในแง่มุมประวัติศาสตร์​ว่า ในอดีตมีการใช้กัญชามายาวนานนับพันปีแล้ว จนมาถึงยุคที่เริ่มมีการผลิตยาแผนปัจจุบันมากขึ้น ยาแผนโบราณต่างๆ​ โดยเฉพาะกัญชาจึงถูกทำให้กลายเป็นยาเสพติด​ ผู้เข้ารับการรักษาถูกทำให้กลายเป็นผู้เสพ เพื่อกีดกันยาแผนโบราณออกไป

“เราต้องรู้ก่อนว่าปัญหาของประเทศไทยเราคืออะไร และเกาให้ถูกที่คัน เราต้องกลับมามองประวัติศาสตร์ที่กัญชาเคยถูกใช้เป็นยารักษาโรคได้ เพียงแต่เราต้องระมัดระวังว่าจะเปิดกว้างแค่ไหน เพราะบริษัทยาก็จ้องจะนำกัญชามาใช้ในการทำยาสังเคราะห์ ซึ่งผมอยากเสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายด้วย”

กระท่อม กัญชา
ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์

สิทธิบัตรกระท่อม

วิฑูรย์​ เลี่ยนจำรูญ​ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี​ (ไบโอไทย)​ มองในแง่สิทธิบัตรที่ไทยจะเสียผลประโยชน์​ โดยขณะนี้ญี่ปุ่นได้จดสิทธิบัตรใบกระท่อมในสกุล​ mitragyna (พืชสกุลนี้ประกอบด้วย​ กระทุ่มใบเล็ก กระทุ่มใบเนิน และกระท่อม)​ เพื่อนำไปใช้ในกลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PCT) ทั้ง​ 150 ประเทศ​ รวมถึงประเทศไทย ​แต่ยังติดข้อกฎหมายบางประการ ทำให้ญี่ปุ่นยังไม่สามารถนำไปใช้ได้​

​ประโยชน์ทางการแพทย์​ที่จะได้จากพืชกระท่อมนี้ วิฑูรย์​มองว่า หากมีการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ไม่เพียงจะนำมาสู่ผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่​ยังส่งผลไปถึงสุขภาพของประชาชนด้วย

“โดยสรุปผมเห็นด้วยในการถอดกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 เพราะเราใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ฉะนั้น เราจะต้องสนับสนุนให้เกิดหมอพื้นบ้าน และมีการวิจัยต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในวงกว้าง”

กระท่อม กัญชา
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

เปลี่ยนมุมมองกฎหมายยาเสพติด

เบื้องหลังแนวคิด พ.ร.บ.ยาเสพติด แต่เดิมมีไว้เพื่อลดปัญหาด้านอาชญากรรม ​เพราะเชื่อว่าการเสพกัญชา​-กระท่อม จะนำมาสู่ปัญหาด้านอาชญากรรม​

จากการศึกษาของ​ พ.ต.ท.หญิง​ ชลิดา​ อุปัญญ์ สารวัตรฝ่ายกฎหมายและวินัย​ โรงพยาบาลตำรวจ (นักศึกษา​ปริญญาเอก​คณะนิติศาสตร์​ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร​ศาสตร์)​ มองว่า​ต้องมีการลดทอนความเป็นอาชญากรรมควบคู่กับหลักการอื่นๆ​ เช่น​ การไม่ตีตรา ​ไม่เลือกปฏิบัติ​ เปิดโอกาสให้คนผันตัวจากอาชญากรมาสู่ผู้บำบัด โดยมีโมเดลจากต่างประเทศที่ใช้กัญชาในการรักษาทางการแพทย์​ เช่น​ ในสหรัฐแบ่งออกเป็นในทางนิตินัยและพฤตินัย​ โดยในทางนิตินัย ระดับมลรัฐสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์และการเสพเพื่อสันทนาการได้ ขณะที่ในทางพฤตินัย หากพบว่ามีการครอบครองกัญชาจะต้องไม่นำไปสู่การลงโทษด้วยกระบวนศาล แต่ตำรวจจะต้องใช้ดุลยพินิจผ่านทางเลือกอื่นแทนการจำคุก​ รวมไปถึงการกำหนดเพดานอายุผู้มีไว้ในครอบครอง ต้องมีอายุ​ 21 ปีขึ้นไป ​ปลูกกัญชาได้ไม่เกิน​ 6 ต้น​ และการขนส่งกัญชาที่ถูกกฎหมายไม่เกิน​ 1 ออนซ์ หรือ​ ​​28 กรัม

กระท่อม กัญชา
พ.ต.ท.หญิง ชลิดา อุปัญญ์

ไม่ว่ากัญชา-กระท่อมจะถูกตีตราเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นพืชยารักษาโรค สุดท้ายขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมมองว่าจะเปิดกว้างแค่ไหน หากมีการศึกษาวิจัยอย่างถูกต้องตามหลักวิชา เราอาจพบคำตอบที่ดีกว่า หาไม่แล้วประเทศไทยคงย่ำอยู่กับที่