กัญชา กระท่อม จากยาเสพติดสู่ ‘พืชยา’ รักษาโรค

นี่อาจเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเด็น พ.ร.บ.กระท่อมและกัญชา ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอเป็นร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาให้กระท่อมและกัญชาย้ายจากสารเสพติดประเภท 5 มาสู่ประเภทที่ 2 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัย โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การรักษาคนไข้ เป็นที่มาของวงประชุมแลกเปลี่ยน ณ อาคารนวัตกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2561

ในฐานะประชาชนธรรมดาที่ล้วนได้ยินได้ฟังต่อเรื่องราวของกระท่อมและกัญชามาไม่มากก็น้อย ทำไมพืชทั้งสองชนิดนี้ถึงสำคัญจนต้องนำไปสู่การเสนอกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเภทของสารเสพติดทั้งในกระท่อมและกัญชา?

เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จึงแถลงถึงจุดประสงค์ในการจัดประชุม โดยเบื้องต้น ภญ.นิยดาบอกว่า เดิมทีเรื่องพืชกัญชาและกระท่อมมีประเด็นคาบเกี่ยวทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายวิชาการ รวมถึงผู้ป่วย ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้พอสมควร และในฐานะที่เป็นผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการ จึงเชิญสื่อมวลชนมาร่วมรับฟังการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์ปัจจุบันและทำความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง

“เพื่อให้เป็นปากเสียงแทนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้พืชทั้งสองชนิดนี้ เพื่อผู้ป่วย และเพื่อความมั่นคงของประเทศด้วย”

สถานการณ์ล่าสุด

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่าในตอนนี้มีการแก้ พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยผ่าน สนช. วาระแรกตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ในวาระสองท่าทีของรัฐบาลยังไม่รับรองให้ผ่านออกมาได้อย่างง่ายนัก ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 สนช. 41 คนได้ให้การรับรอง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้สามารถปลูกพืชกัญชาเพื่อทำการวิจัยได้ รวมไปถึงการใช้มาตรา 44 มาเป็นขุนค้อนสำคัญในการทุบให้กฎหมายนี้คลอดออกมา อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรา 44 กับเรื่องพืชยานี้ยังไม่มีความชัดเจน

ทว่าการรับรองที่ว่ายังคงเน้นไปที่กัญชาในฐานะที่เป็นสารสกัดในการรักษาโรคมะเร็งมากกว่ากระท่อม

กัญชา กระท่อม
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

‘พืชยา’ คำสำคัญของกัญชาและกระท่อม

กรรณิการ์กล่าวต่ออีกว่าสิ่งสำคัญที่อยากจะเน้นย้ำนอกเหนือจากข้อมูลในวงประชุม คำสำคัญของกัญชาและกระท่อม อยากให้สื่อมวลชนเน้นไปที่คำว่า ‘พืชยา’ เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อสาธารณชนในวงกว้าง หรืออย่างน้อยที่สุดคือในจำนวนผู้ที่ติดตามช่องทางสื่อสารต่างๆ ของสื่อแต่ละสำนักจะสามารถเกิดความเข้าใจในเรื่องกัญชาและกระท่อมมากขึ้นกว่าด้วย

“ในแวงวงวิชาการ กัญชาและกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด ยิ่งไม่ใช่ยาเสพติดประเภทที่ 5 ด้วย ถ้าจะช่วยสร้างวาทกรรมนี้ก็ฝากด้วยนะคะ”

โดยผู้ที่จะมาช่วยสะสางถึงประโยชน์ ข้อดี/ข้อเสีย/ข้อควรระวัง ของพืชยากัญชาและกระท่อม คือ ภญ.วีรยา ถาอุปชิต นักวิจัยแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา

ภญ.วีรยากล่าวว่า จากข้อมูลที่มีจำนวนมากเรื่องสรรพคุณทั้งในส่วนของพืชยากระท่อมที่ปลูกกันค่อนข้างมากในภาคใต้และกัญชาแล้ว รัฐบาลควรจะฟันธงลงมาแล้วว่าพืชยากระท่อมและกัญชามีข้อดีอะไรบ้างที่สามารถขยายผลไปสู่การวิจัยเพื่อพัฒนาด้านการแพทย์ได้ และมีข้อเสียอะไรบ้างที่ควรระวัง

ตำรายาจากโบราณ

“จากที่เราได้ประมวลมานะคะ อันดับหนึ่งเลยคือประมวลยาที่มีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีการรวบรวมออกมาเป็นตำรายาพื้นบ้านอยู่ ถัดไปคือประสิทธิผลที่มีคนวิจัยรับรอง ที่เด่นๆ จะขออนุญาตยกมาเบื้องต้นก่อนนะคะ หนึ่งแก้ปวด พูดง่ายๆ คือทั้งกระท่อมและกัญชามีประสิทธิผลในการบรรเทา-แก้ปวดได้ ดีถึงขั้นบางคนบอกว่าดีกว่ามอร์ฟีนที่ใช้อยู่เดิมด้วยซ้ำ อันที่สองมีการวิจัยอยู่หลายชิ้นที่แม้หลายคนจะบอกว่ายังไม่แน่นอนนัก คือรักษามะเร็ง”

นอกจากนี้ ภญ.วีรยายังระบุไว้ในเอกสารที่แจกจ่ายให้สื่อมวลชนอีกว่า กัญชายังมีหลักฐานคุณภาพที่น่าเชื่อได้ว่าสามารถใช้รักษาอาการปวดเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการปวดจากปลายประสาท (neuroleptic pain) หรือปวดจากโรคมะเร็ง (cancer pain) รวมไปถึงการรักษาภาวะกล้ามเนื้อเกร็งเนื่องจากภาวะปลอกประสาทอักเสบ (spasticity due to multiple sclerosis)

ภญ.วีรยาระบุ ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงที่อาจเกิดจากการใช้กัญชาในการรักษาในระยะสั้น เช่น ทำให้เกิดอาการมึนงง ปากแห้ง เหนื่อยเพลีย สับสน สูญเสียการทรงตัว ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ในยาทั่วไป

ในขณะที่ ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา บอกว่าพืชยากระท่อมนั้นเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน และทั้งสองชนิดเป็นพิษและทรมานน้อยกว่าเหล้า

“เหล้าเรายังเก็บภาษีได้ กระท่อมกินไม่ได้ แต่กระทิงแดงกินได้ มันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราเห็นว่ามันผิดปกติ ตั้งแต่สมัยยาทัมใจ ชาวบ้านบอกว่ากินกระท่อมก็ได้ แต่กฎหมายไม่อนุญาตให้กิน ซึ่งยาเหล่านี้ทางอีสานคนติดเยอะมาก กระเพาะทะลุกันเยอะมาก”

ภญ.สำลีกล่าวว่า คนในพื้นที่ภาคใต้และอีสานจะรับประทานกระท่อมเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยต่างๆ แทนยา โจทย์ของการประชุมในวันนี้จึงเป็นเรื่องเร่งรัดให้รัฐบาลรับรองหลักการแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. … เพื่อให้นำกระท่อมออกมาจากยาเสพติดประเภท 5

“พวกเราต้องไปถามทางสภาเหมือนกัน เขาเอามาเข้าสภา ใช้มาตรา 44 เพื่อสกัดกัญชาตัวเดียว ไม่เอากระท่อม”

“องค์การเภสัชเผอิญมีบอร์ดเป็นอดีตปลัดฯ ไม่ว่าบอร์ดขององค์การเภสัชจะเป็นอะไรมาก่อนก็แล้วแต่ ก็ยังอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน การขออะไรต่างๆ ต้องเสมอภาคกัน ซึ่งองค์การเภสัชเวลาขออะไรจะขอทีเดียวได้ ซึ่งถามว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือเปล่าในแง่กฎหมาย”

กัญชา กระท่อม
ภญ.สำลี ใจดี

ภญ.สำลีสรุปทิ้งท้ายว่า หลักใหญ่ใจความสำคัญในการนำพืชยากัญชาและกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 มาสู่ประเภท 2 ก็เพราะในส่วนของยาเสพติดประเภท 2 นั้นเป็นยาเสพติดทั่วๆ ไป อยู่ในกลุ่มเดียวกับมอร์ฟีน ซึ่งเป็นยาเดียวที่สามารถนำมาใช้ได้

“พอไปถึงประเภทที่ 2 มันจะโยงถึงประเภทที่ 3 ด้วย ก็คือจะโยงเรื่องของตำรับยา เพราะว่าประเภทที่ 3 มันเขียนว่าเป็นยาเสพติดชนิดให้โทษที่เขียนว่าเป็นตำรับยา และมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ผสมอยู่ กล่าวคือ ถ้าอยู่ในประเภทที่ 2 จะพ่วงประเภทที่ 3 มาด้วย ก็คือเป็นตำรับยาที่มีส่วนผสมอื่นได้”

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด ว่ามีการรวบรวมการนำกัญชาไปใช้ ผลปรากฏว่ามีผู้ป่วยเข้าร่วมจำนวนมาก หากกล่าวถึงอาการข้างเคียงระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง เช่น นอนไม่หลับ อาการปวด ภาวะความเครียด อ่อนแรง คลื่นไส้ รวมถึงการไม่เจริญอาหาร พบว่าผู้เข้าร่วมมีอาการเหล่านี้ลดลง 95.9 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่าเกือบทั้งหมดมีอาการดีขึ้น

“อันที่สองที่น่าสนใจก็คือ ประมาณ 45 คนในจำนวนนี้ หรือประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รู้สึกว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย จำนวนนี้ 0.3 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกว่ามันไม่ส่งผลดี สรุปก็คือเกือบทั้งหมดให้ผลดีอย่างยิ่งกับผู้ป่วยมะเร็ง

“ที่ผมจะพูดก็คือ เหตุที่กัญชามีผลดีกว่ากระท่อมในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะผู้เสียชีวิตอันดับที่หนึ่งในประเทศไทยก็คือผู้ป่วยมะเร็ง และปัจจุบันมีการแอบใช้กันอยู่จำนวนมากในรูปแบบของน้ำมันกัญชาที่ไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพและวิธีการใช้เลย ดังนั้นถ้าไม่จับมันมาอยู่บนโต๊ะ จะมีผู้ป่วยเสียโอกาสจำนวนมาก

“ผมยืนยันว่ากัญชาที่ใช้กันอยู่มีหลายมาตรฐาน และมีปนเปื้อน รวมถึงยาฆ่าแมลง ดังนั้นเราจึงต้องรีบจับมันเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายให้เร็วที่สุด เพื่อผลประโยชน์ต่อผู้ป่วยจริงๆ ประการที่สอง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าประเทศไทยช้า นอกจากจะเสียประโยชน์ของผู้ป่วย เราจะเสียอิสรภาพในเรื่องภูมิปัญญาของไทยอีกด้วย ซึ่งเป็นการสั่งสมประสบการณ์ในการนำมาเป็นตำรับตำรานับพันปี ถึงรู้วิธีการใช้กัญชาอย่างไม่เป็นอันตราย”

ปานเทพสรุปไว้ว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาไว้เจ็ดประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง งานวิจัยเผยชัดเจนแล้วว่ากัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดรุนแรงเท่ากับแอลกอฮอล์และบุหรี่ ถ้าบุหรี่และแอลกอฮอล์ยังถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องมีวิธีการจัดการกับกัญชาให้ถูกกฎหมายเช่นกัน ประการที่สอง กัญชาออกฤทธิ์ทางยาเช่นกันกับกระท่อม ย้อนกลับไปยังอดีต ฝิ่นก็เคยเป็นยาเสพติด ปัจจุบันใช้เป็นมอร์ฟีน และผู้ผลิตรายใหญ่คือต่างชาติ สุดท้ายแล้วประเทศไทยต้องนำเข้า

“นั่นคือเราสูญเสียสมุนไพรที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสามตัวยา กลายเป็นยาเสพติดไปหมด สุดท้ายประเทศไทยซึ่งมีภูมิปัญญาการใช้กัญชา ฝิ่น กระท่อม เราต้องไปพึ่งพาต่างชาติด้วยการนำเข้าสารสำคัญทั้งหมด เพราะเราไม่เข้าใจตัวเองว่าเรามีการควบคุมไม่แพ้ต่างชาติเช่นเดียวกัน”

ประเด็นที่สาม ปานเทพมองในเรื่องของภูมิปัญญาไทยที่รู้จักวิธีการใช้กัญชาและกระท่อมมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตลอดจนมาถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 2  ซึ่งมีการรวบรวมตำรับยา ปรากฏว่ามีการสืบทอดการใช้กัญชามาอีกสองตำรับ กระท่อมต่างหาก ต่อมาในรัชกาลที่ 5 มีมากกว่า 10 ตำรับ และมีการเขียนตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงและแพทยศาสตร์สงเคราะห์สองคัมภีร์ที่ยืนยันการใช้กัญชาตรงกันว่า

กัญชา แก้ไข้ผอมเหลือง หากำลังมิได้ ให้ตัวสัตว์เสียงสัตว์เป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนไม่หลับ

ซึ่งทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความรู้ด้านการใช้กัญชามานานแล้ว

“ที่ผมกำลังจะยืนยันว่าภูมิปัญญาไทยน่าสนใจก็เพราะว่าเมื่อประมาณสี่ปีที่แล้วมีเว็บไซต์ของผู้จัดการได้ลงข่าวเรื่องของผู้ป่วยมะเร็งรายหนึ่งใช้กัญชาเพียงต้มแค่สองดอกต่อวัน ปรากฏว่าหายป่วยจากโรคมะเร็งตับโดยไม่มีคีโมฉายแสงเลย ดังนั้นภูมิปัญญาไทยใช้มานานแล้ว และเป็นเอกภาพมากนะครับ”

อุปสรรคจากพืชยาไปสู่ยาเสพติด

ประการที่สี่ การปรากฏอยู่ในบัญชียาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาหลักสำคัญในมุมมองของปานเทพ เพราะแก้ไขได้ยากมาก โดยปานเทพมองว่าต่อให้ย้ายมาอยู่ในบัญชีประเภทที่ 2 แล้วก็ยังจะเกิดปัญหาใหม่ในเรื่องของวิธีการใช้ต้องผ่านขั้นตอนอีกมาก

“ทั้งที่เรามีภูมิปัญญามาหลายร้อยปีก็จะใช้ไม่ได้ สิ่งที่เรากังวลมากที่สุด คือย้ายไปอยู่บัญชี 2 และเมื่อถึงเวลาจริง แพทย์ภูมิปัญญาใช้ไม่ได้ ใช้แต่สาระสำคัญที่ต้องสกัดมาเท่านั้น แบบมอร์ฟีน ทำให้ภูมิปัญญาไทยเดิมหายไปอีกอย่างน้อย 93 ตำรับ  ดังนั้นอาจจะต้องถอนออกจากบัญชียาเสพติดมาเป็นกฎหมายเฉพาะ ในลักษณะของพืชยาควบคุมที่ปลอดภัยกว่า และเปิดโอกาสให้ใช้ได้ทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน”

ประเด็นที่ห้า ในส่วนของการเสียโอกาสล่าช้าในเรื่องสิทธิบัตรยาที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อเนื่องเรื่องความมั่นคงในประเด็นเวชภัณฑ์ยาต่างๆ เพราะจะทำให้เสียสิทธิบัตร ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำเข้าสารสำคัญเพียงอย่างเดียว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องไม่เพียงไม่จดสิทธิบัตร แต่ต้องยกเลิกคำขอ เพราะถ้าไม่ยกเลิกคำขอ ประเทศไทยจะไม่มีสิทธิจดสิทธิบัตรซ้ำในตำรับยานั้นอีกเลย

ประเด็นที่หก ว่าด้วยเรื่องของข้อเปรียบเทียบว่าไทยทำได้หรือทำไม่ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอิสรภาพและภูมิปัญญา ถ้าอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลียทำได้ แต่เรากลับกลายเป็นทำไม่ได้

“ประการสุดท้าย เราต้องรีบออกเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ป่วย ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ การตรวจสอบสาระสำคัญ การตรวจสอบสารพิษในกัญชาและกระท่อม และกำหนดวิธีการใช้ภายใต้การดูแลทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย”

“ทั้งเจ็ดประการนี้เป็นจุดยืนที่ต้องรีบนำเสนอให้รัฐบาลรีบแก้ไขปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์อย่างเร็วที่สุด”