‘อยู่’ หรือ ‘หย่า’ ถ้าผ่าตัดลดน้ำหนัก

ขณะที่ตัวเลขบนตาชั่งลดลงไป การผ่าตัดลดน้ำหนักอาจทำให้คนข้างกายของคุณตัดสินใจอยู่หรือไปได้ด้วย

นักวิจัยจากสวีเดนพบว่า ภายใต้เงื่อนไขของการแต่งงานหรือมีคู่รัก การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน (bariatric surgery) อาจทำให้เกิดการแยกทางหรือหย่าร้างได้มาก ในทางกลับกัน ถ้ายังเป็นคนโสด การผ่าตัดจะเปิดโอกาสให้ได้เริ่มความสัมพันธ์ใหม่หรือแต่งงานได้

ทั้งนี้ การผ่าตัดโรคอ้วนคือทางเลือกสุดท้ายของการลดน้ำหนัก เมื่อสุขภาพอยู่ในภาวะเสี่ยงเกินกว่าจะอดอาหารและออกกำลังกาย การผ่าตัดนี้มีเป้าหมายหลักคือ ‘ลดการกินอาหาร’ โดยแต่ละคนจะใช้เวลาฟื้นฟูหลังผ่าตัดต่างกันไป อาจนานหลายเดือนกว่าจะกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติหลังการผ่าตัด

เพอร์-อาร์เน สเวนส์สัน (Per-Arne Svensson) นักวิจัยจากสถาบันซาห์ลเกรนสกา (Sahlgrenska Academy) มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก (University of Gothenburg) ประเทศสวีเดน กล่าวว่า ทีมของเขาได้ดูข้อมูลจากกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาสองกลุ่มใหญ่ที่เลือกและไม่เลือกการผ่าตัด โดยมีผู้หญิงเข้าร่วม 70-75 เปอร์เซ็นต์ และแบ่งการศึกษาออกเป็นสองครั้ง

ครั้งแรก ทีมวิจัยได้เฝ้าดูและเปรียบเทียบผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้าผ่าตัด 1,958 คน และผู้ป่วยที่ไม่เข้าผ่าตัด 1,912 คน เป็นเวลาสี่ปีและพบว่า คนโสดที่เข้าผ่าตัด ได้แต่งงานหรือเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ เกือบ 21 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับคนโสดที่ไม่ผ่าตัด 11 เปอร์เซ็นต์ หกปีต่อมา คนที่ผ่าตัดมีอัตราการแต่งงานหรือการเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่เกือบ 35 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ผ่าตัดมี 19 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกัน เมื่อสี่ปีผ่านไป คนที่แต่งงานแล้วและเข้าผ่าตัดมีอัตราหย่าร้างหรือแยกทาง 9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ควบคุมน้ำหนักเองโดยไม่ผ่าตัด มี 6 เปอร์เซ็นต์ หกปีต่อมา คนที่ผ่าตัดมีอัตราการหย่าร้างหรือแยกทางราว 17 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกกลุ่มมี 12 เปอร์เซ็นต์

การศึกษาครั้งที่สอง เปรียบเทียบผู้ป่วยที่เข้าผ่าตัด 29,234 คน พบว่ากลุ่มคนโสดที่เข้าผ่าตัด มีโอกาสแต่งงาน 35 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่แต่งงานแล้วและเข้าผ่าตัดมีโอกาสหย่าร้าง 41 เปอร์เซ็นต์

“ภายในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัด การเปลี่ยนแปลงสถานะความสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติที่มาพร้อมกับน้ำหนักที่ลดลงอย่างมหาศาล” ทีมผู้เขียนงานวิจัยได้รายงานลงในวารสารด้านการศัลยกรรมจากสมาคมการแพทย์อเมริกัน (JAMA Surgery)

“ในการทดสอบด้านความสัมพันธ์อีกครั้ง ผู้ป่วยรับรู้ว่าพวกเขาสามารถออกจากความสัมพันธ์ที่ไม่มีความสุข และมีโอกาสเลือกที่จะเริ่มความสัมพันธ์ดีๆ ได้ใหม่หรือไม่ก็ได้” ซาเมอร์ มัททาร์ (Samer Mattar) ประธานสมาคมการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนและการแพทย์แห่งอเมริกา (American Society for Metabolic & Bariatric Surgery and Medical: ASMBS) กล่าว อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดกับการศึกษาครั้งนี้

ในการทดลองเก็บข้อมูลทั้งสองครั้ง ผู้เข้าร่วมอาศัยอยู่ในสวีเดนทุกคน ทำให้ทีมผู้เขียนงานวิจัยระบุว่า “ไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ได้จะสามารถสรุปในประเทศและวัฒนธรรมอื่นๆ ได้หรือไม่” และยังไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า การผ่าตัดลดน้ำหนักเป็นสาเหตุหลักของความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป โดยมีข้อเสนอแนะว่า การผ่าตัดอาจมีส่วนเพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์ที่ขุ่นมัวอยู่แล้ว หรือเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยทิ้งความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นได้ง่ายขึ้น

นักวิจัยยังได้บันทึกว่า โดยภาพรวมหลังจากการผ่าตัดแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยและคู่ของตนยังมีความสัมพันธ์เหมือนเดิมหรือดีขึ้น แต่ก็มีบางขณะที่คู่ของพวกเขาเกิดรู้สึกอิจฉาหรือรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป

“การผ่าตัดโรคอ้วนได้ทำให้ข้อดีข้อเสียของความสัมพันธ์ขยายตัวและชัดเจนขึ้น” มัททาร์กล่าว “ผู้ป่วยควรรับรู้ว่า การผ่าตัดจะพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพวกเขา รวมถึงความสามารถในการเป็นอิสระและความมั่นใจในการตัดสินใจส่วนบุคคล”

การผ่าตัดแบบนี้เป็นการรักษาโรคอ้วนที่ได้ผลชะงัดทันตาเห็น และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2016 ศัลยแพทย์เฉพาะในอเมริกาได้ทำการผ่าตัดในลักษณะนี้ไปแล้ว 216,000 ครั้ง ทั้งการลดขนาดกระเพาะ (gastric bypass) รัดกระเพาะ (gastric banding) และการผ่าตัดแบบตัดต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก (sleeve gastrostomy)

ขั้นตอนการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะยังมีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน ทาง ASMBS ได้ชี้แจงว่า การผ่าตัดอาจนำไปสู่การขาดวิตามินและแร่ธาตุในระยะยาว นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้รับการผ่าตัดต้องกินอาหารเสริมไปตลอดชีวิต

เอลเลียต เฟเกลแมน (Elliott Fegelman) ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของบริษัทเอธิคอน (Ethicon) บริษัทหนึ่งในเครือของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กล่าวว่า เขาเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นระหว่างหมอและผู้ป่วยโรคอ้วน เพื่อทำให้ผู้ป่วยรับทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้อย่างชัดเจน รวมถึงการตัดสินใจด้วยว่า การผ่าตัดแบบใดที่เหมาะสมกับพวกเขา

“การผ่าตัดรักษาโรคอ้วนและการควบคุมการเผาผลาญเป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการพิจารณาและค้นหาทางเลือกของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยิ่งเห็นผลช้าเท่าไหร่ ประโยชน์จากการผ่าตัดก็อาจได้รับผลกระทบมากขึ้น” เฟเกลแมนกล่าว


อ้างอิงข้อมูลจาก:
reuters.com
medicalnewstoday.com