หลังการประชุมนัดสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่นั้น ที่สุดมติคณะกรรมการมีมติ “ไม่แบนพาราควอต” ทั้งที่มีข้อมูลจากนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นปัญหาและความอันตรายของสารเคมีที่ส่งผลร้ายต่อประชาชน เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร จึงออกแถลงการณ์ต่อมติดังกล่าว พร้อมแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการที่เพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยในแถลงการดังกล่าวระบุข้อความพร้อมเหตุผลดังนี้
แถลงการณ์
กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ไม่แบนพาราควอต
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร รู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของ (1) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (2) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (7) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (8) สภาเภสัชกรรม (9) แพทยสภา (10) เครือข่ายประชาคมวิชาการ (11) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (12) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ภายในปี 2562
เครือข่ายฯ ผิดหวังเป็นที่สุดต่อบทบาทของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 5 คน ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่เมื่อพ้นระยะ 2 ปีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่นและเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามาดูโลก
รัฐบาล คสช. ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ โดยมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานของรัฐมากถึง 19 คน จากกรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คน ต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการลงมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ และประชาชนควรจะเป็นผู้ตัดสินใจให้บทเรียนกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานและผู้ที่ลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงครั้ังนี้จำนวน 16 คนด้วย
เครือข่ายฯ ขอขอบคุณ กรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างน้อย จำนวน 5 คน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ลงมติให้มีการคุ้มครองชีวิตของประชาชนและปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารพิษโดยการเสนอให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว
เครือข่ายฯ ขอประกาศว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอตและสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก
ปัญหาอุปสรรคในการแบนสารพิษร้ายแรง สะท้อนให้เป็นความอัปลักษณ์ของกฎหมายวัตถุอันตรายที่ให้อำนาจการแบนสารพิษไปไว้ในมือของหน่วยงานที่ปราศจากความรู้และความตระหนักในเรื่องความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคลากรบางกลุ่มในคณะกรรมการกับบริษัทสารพิษ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้ความรู้และพลังของประชาชนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างถึงราก
เราเห็นการเติบโตและตื่นขึ้นของพลังประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ เราเห็นการลุกขึ้นขององค์กรและสภาวิชาชีพต่างๆ ที่ลุกขึ้นเปล่งเสียงเรียกร้องให้ยุติการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบเกษตรกรรม อาหาร และชีวิตของพวกเราทั้งหมด พลังเหล่านี้จะเติบโตขยายตัวมากขึ้น
เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร
14 กุมภาพันธ์ 2562