ออสเตรีย EU ชาติแรกที่แบน ‘ไกลโฟเสต’

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สภาล่างของออสเตรียออกมติห้ามใช้สารกำจัดวัชพืช ‘ไกลโฟเสต’ (Glyphosate) หลังจากที่สารดังกล่าวกำลังถูกโจมตีในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

“ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ว่าไกลโฟเสตมีผลทำให้เกิดมะเร็งได้ มันเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะแบนสิ่งนี้ออกจากสภาพแวดล้อมของเรา” พาเมลา แรนดี-วาร์กเนอร์ (Pamela Rendi-Wagner) สมาชิกระดับสูงของสภาแห่งชาติกล่าว

สารเคมีไกลโฟเสตเป็นสารเคมีที่ถูกพัฒนาโดยบริษัทใหญ่สัญชาติอเมริกา Monsanto ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทในสังกัด Bayer ของเยอรมนีที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเคมีและยา สารกำจัดวัชพืชดังกล่าวออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 1974 ปัจจุบันสิทธิบัตรหมดอายุไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งผลิตสารฆ่าวัชพืชมีไกลโฟเสตได้โดยไม่ติดปัญหาสิทธิบัตรใดๆ

ในปี 2015 หน่วยงานวิจัยโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า สารไกลโฟเสตมีสถานะ “อาจเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง” และในปี 2019 ผลการวิจัยของ ScienceDirect รายงานว่า ไกลโฟเสตมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาสารก่อมะเร็งในเซลล์เม็ดเลือด

ในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันกว่า 13,000 คน อ้างว่าได้รับผลกระทบจากไกลโฟเสตและกำลังอยู่ในขั้นตอนฟ้องร้องบริษัท Bayer ในกรณีหนึ่ง ศาลแคลิฟอร์เนียสั่งให้ Bayer จ่ายค่าปรับสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ แก่สามีภรรยาที่อ้างว่าพวกตนได้รับสารไกลโฟเสตจนเป็นมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ทางด้านบริษัท Bayer ยืนยันว่าสารไกลโฟเสตไม่ได้เป็นอันตรายจนก่อให้เกิดมะเร็ง

“การตัดสินของสภาแห่งชาติออสเตรียไม่ตรงกับผลการวิจัยไกลโฟเสต” Bayer กล่าวถึงงานวิจัยอีกชิ้นของไกลโฟเสตในแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร

ในอนาคต หากมติของสภาล่างได้รับการอนุมัติโดยสภาสูง กฎหมายดังกล่าวจะได้รับการรับรองโดย อเล็กซานเดอร์ ฟาน เดอร์ เบลเลน (Alexander Van der Bellen) ประธานาธิบดีออสเตรีย จะทำให้ออสเตรียเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ดำเนินการอย่างจริงจังในการต่อต้านสารกำจัดวัชพืช

การตัดสินใจของออสเตรียจะขัดต่อข้อบังคับของ EU ในปี 2017 ที่อนุญาตให้มีการใช้สารดังกล่าวต่อไปได้อีก 5 ปี ข้อบังคับของทาง EU นั้นอิงมาจากข้อมูลของหน่วยงานวิจัยและการประเมินความเสี่ยงของอาหารในยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) และหน่วยงานบริหารจัดการด้านเคมีของยุโรป (European  Chemicals Agency: ECHA) ที่ไม่ได้จัดให้สารไกลโฟเสตอยู่ในหมวดหมู่สารก่อมะเร็ง

สำหรับประเทศไทย ข่าวเมื่อต้นเดือนมิถุนายนระบุว่า กรรมการวัตถุอันตรายมีการสรุปการตรวจสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดนี้คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะที่องค์กรเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ พบว่ามีสารไกลโฟเสตปะปนอยู่ตามอ่างเก็บน้ำหรือน้ำประปาในหมู่บ้านในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้บางประเทศแบนสินค้าทางการเกษตรของประเทศไทย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
dw.com
thairath.co.th