ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยตรง ปัจจุบันอัตราผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศพุ่งสูงถึงปีละ 1 ล้านครั้ง เสียชีวิตปีละกว่า 2,000 ราย
สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (Thai Asthma Council: TAC) จึงได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2562 และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์โรคหืด แนวทางการดูแลรักษาคนไข้ โดยเบื้องต้น ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรคหืดในปัจจุบันที่พบมากถึงร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ และจากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อยังระบุด้วยว่า ผู้ป่วยโรคหืดมีแนวโน้มเสียชีวิตถึง 2,200 รายในปีนี้ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี
“โรคหืดสามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืดประมาณ 1,000 คนต่อวัน ส่วนประเทศไทยเสียชีวิตประมาณ 6 คนต่อวัน ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์”
ศ.พญ.อรพรรณ กล่าวอีกว่า การจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้จะมุ่งเน้นเรื่องแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงให้ง่ายขึ้น
“ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง แพทย์ผู้ให้การรักษาควรรู้ว่าจะต้องเช็คเรื่องอะไรบ้าง ควรเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบไหน และต้องเลือกยาให้เหมาะสมกับคนไข้มากขึ้น รวมถึงการสร้างร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการตรวจวินิจฉัยโรค เพราะบางกรณีอาจเจอผู้ป่วยโรคหอบหืดที่มีความซับซ้อน หรืออาการคล้ายกับโรคอื่น ทำให้การตรวจวินิจฉัยล่าช้าจนทำให้อาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะโรคหอบหืดซ่อนเร้นและมีอาการไอเรื้อรัง”
ทั้งนี้ ศ.พญ.อรพรรณ ยังแนะนำวิธีการดูแลรักษาคนไข้โรคหืดในลักษณะองค์รวม ทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาแบบไม่ใช้ยา ซึ่งจากการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม ศ.พญ.อรพรรณ ได้เสนอทฤษฎี 4Es ที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายๆ ประกอบด้วย
- การให้คนไข้หันมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (Exercise)
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (Eating)
- สิ่งแวดล้อม (Environment) คนไข้โรคหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ
- อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้
ฆาตกรซ่อนเงียบที่ชื่อว่า ‘ฝุ่น’
ด้าน ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสภาพภูมิอากาศที่ไทยได้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ซึ่งภาวะความกดอากาศสูงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป และคาดการณ์ว่าจะมีการเผาเศษวัชพืชจากฝั่งประเทศกัมพูชาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะส่งผลกระทบมายังกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นภาวะที่ ศ.นพ.ชายชาญ เรียกว่า ‘ฝุ่นมรณะ’
“ผมใช้คำว่า ‘ฝุ่นมรณะ’ เพื่อให้คนตระหนักในการดูแลตัวเอง เพื่อให้เห็นว่ามันเล่นกันถึงตาย ช่วงกลางเดือนกันยายนก็มี PM2.5 มีการเผาฟางข้าวในภาคกลาง ตามมาด้วยความกดอากาศจากทางตอนเหนือลงมาถึงกรุงเทพฯ และยังมีปัญหาไฟป่า ส่วนภาคอีสานก็จะมีการเผาไร่อ้อย เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดนะครับ แต่เป็นมาสิบๆ ปีแล้ว”
จากสถานการณ์ที่ผ่านมา ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า เมื่อมีการเผาจากภาคเหนือตอนล่าง กอปรกับกระแสลมพัดเข้ามาทางใต้ ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนกลางต้องเผชิญกับภาวะฝุ่นมรณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากการเผาไร่ในภาคเหนือแล้ว บริเวณชายแดนพม่าก็มีการเผาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนายทุนจากประเทศไทยย้ายการลงทุนไปยังฝั่งพม่าด้วยเหตุผลค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า
ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ผลการตรวจสุขภาพพบว่า ภายในโพรงจมูกของประชาชนแทบไม่ต่างจากพื้นผิวกระดาษทราย แม้จะล้างด้วยน้ำเปล่าแล้ว ฝุ่น PM2.5 ก็ยังไม่หมดไป
“ถ้าทิ้งไว้ 2-3 วันก็จะมีการอักเสบ โดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว และถ้าเข้าไปในสมองก็อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ทีนี้พอโพรงจมูกตัน ต้องหายใจทางปาก ก็จะทำให้เสียงแหบ เพราะกล่องเสียงมีฝุ่นและแบคทีเรีย
“PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดงด้วยซ้ำ เวลาเข้าไปในร่างกายแล้วจะเกาะติดที่ผนังเส้นเลือดได้ง่าย ทำให้เกิดการอักเสบ ที่สำคัญฝุ่นขนาดเล็กนี้ยังสามารถแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ยิ่งกว่าควันบุหรี่มือสองที่กระทบในบริเวณจำกัด แต่ PM2.5 กระทบต่อประชากรจำนวนมาก รายงานของสหประชาชาติ เขาเรียกว่าเป็นฆาตรกรซุ่มเงียบ คร่าชีวิตชาวโลกไปถึง 7 ล้านคน”
ถึงเวลาสังคายนาองค์ความรู้
ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องมลพิษในประเทศไทยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาถือว่ายังน้อยมาก ทั้งที่ปัญหานี้ควรมีการสังคายนาเป็นองค์ความรู้ขนาดใหญ่ในระดับสากล
“ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 มาเป็นเวลา 20-30 ปี มีคนเสียชีวิต 30,000-50,000 คน ข้อมูลในปี 2552 มีรายงานการวิจัยที่สัมพันธ์กับ PM2.5 ประมาณ 40,000 รายงาน แต่ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลเลย กระทรวงสาธารณสุขรายงานก็รายงานไป ในขณะที่อุบัติเหตุทางรถยนต์ของไทยอยู่ที่ 9,400 คน จะเห็นว่าสถานการณ์ PM2.5 ทำให้คนตายมากกว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งปีถึง 4 เท่า แต่ไม่เคยอยู่ในแผนที่จะบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมันไม่ง่ายที่จะนับศพ และถ้าผู้บริหารไม่ฟังนักวิชาการก็จะบริหารประเทศผิดพลาด”
ผลกระทบขั้นรุนแรงจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำให้อัตราการเสียชีวิตรายวันของชาวเชียงใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงมีนาคม 2554 จนถึงมีนาคม 2561 และจากผลวิจัยยังพบข้อมูลว่า ทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่น PM2.5 จะทำให้ชาวเชียงใหม่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ภายในหนึ่งสัปดาห์
“ในทุกๆ 10 ไมโครกรัมที่ของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นต่อปี ทำให้ประชากรโลกอายุสั้นลงประมาณ 1.8 ปี แต่ในภาคเหนือตอนบนของไทยที่มีฝุ่นหนาแน่น คนจะอายุสั้นลงประมาณ 5-6 ปี ส่วนคนกรุงเทพฯ จะอายุสั้นลง 2-3 ปี นี่เป็นสถิติจากปี 2557”
ศ.นพ.ชายชาญ ย้ำว่า ผลกระทบต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่สาธารณชนควรตระหนัก รวมถึงในวงการแพทย์ที่ต้องทำความจริงให้ปรากฏ เพราะทุกคนล้วนได้รับผลกระทบทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว อาจไม่ป่วยในวันนี้ แต่ป่วยในวันหน้า และเมื่อถึงเวลานั้นอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ภาพ: สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย