มติไม่เป็นเอกฉันท์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างมากมีมติไม่แบนสารเคมีอันตราย 3 ตัว ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ด้วยเหตุผลว่า ยังไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบมากพอ โดยให้จำกัดการใช้สารเคมีเหล่านี้ในพืชเศรษฐกิจ
แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เผยให้เห็นผลกระทบของสารเคมีเหล่านี้ เช่น สารพาราควอตที่ตกค้างในร่างกายมารดาสามารถถ่ายทอดไปยังทารกได้ ในงานวิจัย ‘การตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในแม่และทารก’ โดย ศาสตราจารย์ ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ประกอบการสำรวจการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้ของ ‘เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช’ (Thai-PAN) พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน หรือคิดเป็น 63.3% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด
ผักและผลไม้ที่สำรวจพบการปนเปื้อน ล้วนแต่เป็นผักที่ผู้บริโภคหาซื้อได้ง่ายในท้องตลอด เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า กะเพรา ชะอม เป็นต้น
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงเหล่านี้ถูกดูดซึมมาทางรากของพืชสวนครัว
ภาคประชาชนและเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีพิษร้ายแรงกว่า 700 องค์กร จึงเตรียมหลักฐานยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยมีมูลเหตุว่ามติดังกล่าวอาจไม่โปร่งใส และคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่คุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
นี่คือสิ่งที่ภาคประชาชนพอจะทำได้
เมื่อสารเคมีถูกอนุญาตให้ใช้ต่อไป และอาดัมและอีฟยังคงต้องกินผักและผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี แน่ล่ะว่าหากทั้งสองแต่งงานและมีบุตร ก็น่ากลัวว่า สารเคมีนั้นจะถ่ายทอดไปยังคนรุ่นลูก