7 ข้อเสนอ ดีเดย์…สมัชชาผู้บริโภค

ดีเดย์…สมัชชาผู้บริโภค เสนอให้ปฏิรูปกระบวนการทำกฎหมายของรัฐสภา เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถคืนสินค้าใหม่ในกรณีชำรุดบกพร่อง พร้อมจัดตั้งสภาผู้บริโภค ขึ้นตรวจสอบการทำงานและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หลังจากที่ผ่านมาพบปัญหาอื้อ

รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า คณะกรรมการได้ทำหน้าที่ตามที่เขียนไว้ในร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. … โดยได้ทำหน้าที่ให้ความเห็นและตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ พบว่า ไม่ให้ความสำคัญต่อเหตุผลที่องค์กรผู้บริโภคเสนอ ได้แก่ การขึ้นค่าทางด่วน การประมูล 3 G การขึ้นค่าก๊าซ LPG และการให้ความเห็นต่อกรณีการขยายระยะเวลาสัมปทานคลื่น 1800 ซึ่งเสียผลประโยชน์ต่อประเทศ และผลกระทบต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังพบว่า การแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนมุ่งเน้น แก้ปัญหาเป็นรายกรณี ไม่มุ่งป้องกัน หรือปรับปรุงหลักเกณฑ์ และมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในหลายหน่วยงาน

คณะกรรมการ ฯ เห็นว่า สิ่งที่เราต้องแก้ไขมากที่สุด คือการปรับปรุงกระบวนการทำกฎหมายของรัฐสภา เห็นได้จากกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ผลักดันมากกว่า 16 ปี ใช้เวลาพิจารณาในรัฐสภามากกว่า 5 ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จ หากไม่ใช่กฎหมายรัฐบาล พร้อมจะจัดตั้งสภาผู้บริโภคเพื่อตรวจสอบ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ในส่วนข้อเสนอด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. ต้องส่งเสริมให้เกิดฉลากอาหารที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค โดยใช้มาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร ในขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม แทนที่ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว (ฉลาก GDA / ฉลากหวานมันเค็ม) มีระบุฉลากสารที่จะก่อการแพ้ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานสารเคมีตกค้างในอาหารที่ปลอดภัยและชัดเจนของประเทศ

สำหรับข้อเสนอด้านสินค้าและบริการทั่วไป ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรตั้งคณะทำงานร่วมยกร่างกฎหมายจัดการปัญหาสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง ให้สิทธิและหน้าที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และควรดำเนินการให้ผู้บริโภคไทยเข้าถึงข้อมูลการเตือนเรื่องสินค้า (Product Alerts) ในอาเซียน

ข้อเสนอด้านบริการสาธารณะ ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ ต้องยกเลิกรถโดยสารสองชั้นในเส้นทางเสี่ยง และการช่วยเหลือชดเชยเยียวยาต้องเป็นไปตามความร้ายแรงของการละเมิด

 

นอกจากนี้หน่วยงานรัฐต้องหาทางสนับสนุน การทำงานขององค์กรผู้บริโภค หรือใช้รูปแบบจากสิงคโปร์ในการเก็บเงินจากผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกร้องเรียน โดยกระบวนการพิจารณาจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมเคร่งครัด และเป็นมิตรกับประชาชน มีกระบวนการเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการนั้นๆ อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเห็นว่าหน่วยงานควรมีหน่วยให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องสิทธิ หน้าที่ ความรู้ทางด้านกฎหมาย เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อจากการรับบริการอีก อย่างไรก็ตามขณะนี้เราได้จัดทำข้อเสนอสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 7 ด้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการตามข้อเสนอต่อไป

รศ. ดร. จิราพร กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างกรณีของรถโดยสารสาธารณะที่มีปัญหาการตาย โดยเฉพาะรถทัวร์ 2 ชั้นซึ่งมีปัญหามากในขณะนี้เราเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งในส่วนที่จะมาควบคุมเรื่องมาตรฐานของรถ คนขับรถ ผู้ประกอบการ ที่สำคัญคือ ในการอนุญาตรถโดยสารคันใหม่ควรเปิดเฉพาะรถทัวร์โดยสารชั้นเดียว ทั้งนี้เพื่อลดการใช้รถทัวร์โดยสาร 2 ชั้นที่ค่อนข้างมีปัญหามาก นอกจากนี้ยังต้องบังคับใช้กฎหมายการจราจร การบังคับใช้เส้นทาง และการปรับปรุงถนนให้เหมาะสม โดยเฉพาะเส้นทางที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เช่น เส้นทางบริเวณทางเขา ที่มีทางโค้งและทางลาดชันค่อนข้างมาก

นอกจากนี้อีกหน่วยงานที่มีความสำคัญคือกระทรวงศึกษาธิการต้องทบทวนการจ่ายค่าหัวสำหรับนักเรียนที่จะไปทัศนศึกษา ในอัตราที่เพียงพอต่อการเช่ารถที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม มีการเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่คุ้มครอง และไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดแต่ให้แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ออกจากค่ารักษาพยาบาล หรืออย่างกรณีข้อเสนอด้านบริการสาธารณะของพลังงานเราเห็นว่า รัฐบาลจะต้องปรับปรุงโครงสร้างกิจการพลังงานทั้งระบบให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศให้ลดน้อยลง

โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ

1. ยกเลิกนโยบายการจัดสรรก๊าซ LPG ให้ปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรก แต่ให้จัดสรรให้กับประชาชนเป็นอันดับแรกโดยเฉพาะภาคครัวเรือนโดยคิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริงบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต ไม่ใช่ไปอิงราคาตลาดโลก

2. สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพิ่มให้เพียงพอต่อปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้

3.ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะมีการเก็บเงินจากประชาชนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยไม่มีการตรวจสอบ ทำให้โครงสร้างน้ำมันสำเร็จรูปไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง

4. มีมาตรการเพื่อยุติการผูกขาดของบริษัท ปตท. ฯ ในกิจการพลังงานของไทย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

5. ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และออกกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ โดยให้ประมูลสัมปทานการสำรวจและขุดในระบบสัญญาแบ่งปัน ที่มีรัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งการทำพลังงานไปใช้ต้องเกิดประโยชน์กับประชาชน ที่สำคัญคือให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นแทนบริษัท ปตท.ฯ

6. แก้กฎหมายห้ามมิให้ข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการพลังงาน เข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทพลังงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จนกว่าจะเกษียณอายุแล้ว 2 ปี

7. ให้มีศูนย์สารสนเทศด้านพลังงานที่เป็นอิสระ เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลในกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีระบบ มีอิสระ ไม่ซ้ำซ้อน หรือก่อให้เกิดความสับสน เข้าถึง เข้าใจได้ง่าย และเป็นข้อมูล ณ ปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงานได้มากขึ้น

สำหรับข้อเสนอด้านที่อยู่อาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาริมทรัพย์ ต้องกำหนดมาตรฐานสัญญาเช่าปรับปรุงสัญญาซื้อขายบ้านและอาคารชุด ให้เป็นธรรมและมีมาตรฐานเดียว และเพิ่มมาตรฐานการรับรองโครงสร้างอาคารและอุปกรณ์ให้ระยะเวลาการคุ้มครองผู้บริโภคยาวนานขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากพบความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาซ้ำเดิม ซ่อมแล้วซ่อมอีกต้องกำหนดมาตรการลงโทษผู้ประกอบการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง

ส่วนข้อเสนอด้านสื่อและกิจการโทรคมนาคม ในส่วนของ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังและให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด และไม่เอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อม หากพบการกระทำผิดหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมตามที่กฏหมายกำหนดไว้ ขณะเดียวกัน กทค. ควรแก้ไขประกาศกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมชัดเจน สามารถป้องกันการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และต้องสามารถควบคุมการโฆษณที่ผิดกฎหมาย ทั้งไม่ขออนุญาต เกินจริง และเป็นเท็จได้

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้มีคณะทำงานซึ่งมีนักวิชาการด้านต่าง ๆ ช่วยสนับสนุนการจัดทำวิจัยเพื่อเสนอมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคใน 7 ด้าน คือ

1.การศึกษาบริการฉุกเฉิน และความไม่ครอบคลุมของบริการสาธารณสุขของแรงงาน ซึ่งจากปัญหาของประชาชนในการใช้บริการในกรณีฉุกเฉิน และมีความเหลื่อมล้ำกันของ 3 กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หรือปัญหาความรับผิดชอบของโนรงพยาบาลเอกชนต่อสุขภาพองคนไทย

2. ศึกษาการกำกับดูแลบริการการบินต้นทุนต่ำในต่างประเทศ และจัดทำข้อเสนอต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคกรณีใช้รถโดยสาร 2 ชั้น ที่จะเห็นว่าไม่ได้มาตรฐาน มีการดัดแปลงผิดรูปแบบ และไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัย หรือมีแต่ใช้ไม่ได้ ไม่มีการบังคับใช้ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกว่าปกติ

3. การศึกษาการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในระดับสำนักงานขนาดเล็ก และการจัดทำข้อเสนอต่อกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบันจะพบว่ามีการผูกขาดของกลุ่มธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในด้านโครงสร้างการจัดการและโครงสร้างราคาพลังงาน โดยประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบมาที่สุด และขาดระบบรวมทั้งกลไกการอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

4. ด้านโทรคมนาคมที่มีการแก้ปัญหาแบบรายกรณี ไม่บังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง

5. ปัญหาการฉ้อโกงและคุณภาพการก่อสร้างด้านที่อยู่อาศัย

6. การศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้าแต่ไม่สามารถใช้สิทธิในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนคืนได้ (Lemon Law) ในประเทศเยอรมันและสิงคโปร์

7. การศึกษาด้านการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมในต่างประเทศ โดยปัญหาขณะนี้พบว่า ธนาคารต่างๆ หันมาประกอบธุรกิจประกันชีวิต หลักทรัพย์ และ กองทุน มีผลกระทบต่อผู้บริโภค เช่น ปัญหาบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจเช่าซื้อ และ บริการอื่น ๆ ของธนาคารพาณิชย์ และจากการตรวจสอบข้อการร้องเรียนพบว่า บางกรณีเกิดจากการที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการบิดเบือนข้อมูลผลประโยชน์และภาระค่าใช้จ่าย ยัดเยียดการขาย บังคับขายพ่วงประกันชีวิตที่ทางธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ สร้างสิ่งจูงใจเพื่อล่อให้ซื้อบริการแต่ในทางปฏิบัติกลับพบเงื่อนไขมากมาย รวมถึงการปล่อยเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ในงานสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 นี้ ได้จัดให้มีการโหวตหน่วยงานที่ผู้บริโภคสามารถดำเนินการเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคได้ดีที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน( ศคง.) และรางวัลบุคคลใช้สิทธิยอดเยี่ยม ปี 2556 ผู้ที่ได้รับรางวัล มี 2 รางวัล ได้แก่

1.นายประทีป เข็มกำเนิดที่คณะกรรมการ ฯ ได้พิจารณาคุณสมบัติ พบว่า เป็นผู้ที่พิทักษ์สิทธิตนเอง มีการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้เดือนร้อนอื่นๆ

2.นางจาฎุพัจน์ พงษ์ธีรมิตรจากการพิจารณาคุณสมบัติ พบว่า เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการพิทักษ์สิทธิตนเอง

ส่วนรางวัล กลุ่มใช้สิทธิยอดเยี่ยม ปี 2556 กลุ่มที่ได้รับรางวัล มี 2 รางวัล คือ

1.กลุ่มผู้เสียหายจากกรณีรถยนต์มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง จากการพิจารณาคุณสมบัติ พบว่า เป็นกลุ่มที่สร้างการมีส่วนร่วมและติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง

2.กลุ่มผู้เสียหายจากกรณีร้องเรียนแคลิฟอร์เนียฟิตเนส ว้าว จากการพิจารณาคุณสมบัติ พบว่า เป็นกลุ่มที่มีความมุ่งมั่น แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยวิธีการอาศัยธุรกิจมาเอาเปรียบผู้บริโภค