สภาเภสัชฯ เตือนคนไทยแห่ซื้อยาต้าน ‘ไวรัสโคโรนา’ เสี่ยงเชื้อดื้อยา

ความหวังของคนไทยเรืองรองขึ้นมาทันที หลังจากที่โรงพยาบาลราชวิถีเปิดเผยผลการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีอาการทรุดหนักจนกระทั่งมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลจากการปรับใช้ยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ในการรักษาผู้ป่วยรายนี้

ที่สำคัญยาทั้งหมดเป็นยาที่ผลิตได้ในประเทศไทยโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในราคาที่ระบบประกันสุขภาพสามารถรองรับได้

ท่ามกลางข่าวดี ยังมีสิ่งที่ต้องพึงระวัง เพราะหากประชาชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เกิดความเข้าใจไม่ถูกต้อง หรือพยายามดิ้นรนซื้อหายาชนิดนี้มารับประทานเอง อาจทำให้เกิดผลร้ายเกินกว่าที่คาด

บทเรียนจากสถานการณ์โรคระบาดเป็นสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้สภาเภสัชกรรม ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการเข้าถึงยา และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จึงจัดแถลงข่าวกรณีที่ประเทศไทยสามารถรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาให้หายได้ โดยใช้ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir: LPV/r) และยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และชี้ให้เห็นสถานการณ์ในการเข้าถึงยาทั้งสองชนิดนี้ภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า เนื่องจากไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มียารักษาโดยตรง ทำให้ทีมแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลราชวิถี พยายามหาแนวทางรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส HIV และยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยผลลัพธ์ในการรักษาครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

“สิ่งที่สภาเภสัชกรรมกังวลก็คือ ความตื่นตระหนกหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชนที่พยายามหาซื้อยาทั้งสามตัวนี้มารับประทานเพื่อป้องกันไวรัส ซึ่งนั่นจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ทั้งที่หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลมาโดยตลอด”

ข้อแนะนำของ รศ.ดร.ภญ.จิราพร มีอยู่ว่า หากประชาชนมีอาการไข้หรือเป็นหวัด วิธีที่ถูกต้องที่สุดคือควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิฉัยอย่างถูกต้อง แต่ไม่ควรทดลองใช้ยาด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะการหาซื้อยาทางเว็บไซต์หรือโซเดียลมีเดียต่างๆ ซึ่งอาจถูกหลอกลวงจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้

“ในยุคดิจิทัล อาจมีการลักลอบซื้อขายกันทางอินเทอร์เน็ต ถ้าใช้กันอย่างผิดๆ อาจมีผลต่อตับ ไต และทำให้เชื้อดื้อยาในที่สุด”

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวเสริมว่า ยากลุ่มต้านไวรัสทั้งหมดจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะต้องจำหน่ายผ่านสถานบริการทางสาธารณสุข คือโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะเท่านั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายตามร้านขายยาทั่วไปได้

“ระบบควบคุมการจำหน่ายและการควบคุมราคา เป็นสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรต้องรีบเข้ามาดูแล อย่างที่เราเห็นชัดๆ จากกรณีขาดแคลนหน้ากากอนามัย”

 

‘สิทธิบัตร’ อุปสรรคการเข้าถึงยา

ทุกครั้งที่มีโรคระบาดใดๆ เกิดขึ้น ยาคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ แต่ปัญหาในปัจจุบันคือระบบสิทธิบัตรที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงยาของผู้ป่วย

จริงอยู่ว่าสิทธิบัตรคือกติกาสากลที่ทุกคนต้องเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้คิดค้น แต่การวิจัยหรือคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใดๆ ก็ตาม ต้องไม่ค้ากำไรเกินควร และต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรมทั้งแก่ผู้ใช้ยาและผู้ประดิษฐ์คิดค้น

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสิทธิบัตรของยาทั้งสามชนิด คือ ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ และยาโอเซลทามิเวียร์ พบว่า มีผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรอยู่หลายรายการ แต่เนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิในการนำเข้ายาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ตั้งแต่ปี 2550 ในยุคของ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ทำให้ประเทศไทยสามารถนำเข้าและผลิตยาใช้เองได้

“การประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรเพื่อผลิตหรือนำเข้ายาโดยรัฐ (Compulsory Licensing: CL) หรือที่เรียกว่า ‘สิทธิเหนือสิทธิบัตร’ ทำให้เรามียาตัวนี้ใช้ และองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตเองได้ ส่งผลให้ราคายาลดลงเป็นอย่างมาก และสามารถดูแลประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทั้งสามกองทุน”

เดิมทียาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ มีราคาอยู่ที่เม็ดละ 74.23 บาท ภายหลังประกาศมาตรการซีแอลและองค์การเภสัชกรรมผลิตเอง ทำให้มีราคาลดลงเหลือเพียงเม็ดละ 13.21 บาท ส่วนยาโอเซลทามิเวียร์ องค์การ UNICEF จัดซื้อได้ในราคาเม็ดละ 44.46 บาท แต่ไทยผลิตได้ในราคาเม็ดละ 25 บาท

 

ห่วงร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร เปิดช่องผูกขาดยา

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังการจดสิทธิบัตรยาที่ไม่เป็นธรรม พบว่ามีคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ควรได้รับการคุ้มครองเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.สิทธิบัตร มีช่องโหว่หลายประการ ทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาการผูกขาดให้หมดไป

“สิทธิบัตรฉบับหนึ่งอาจผูกขาดได้นานถึง 20 ปี และยาตัวหนึ่งอาจไม่ได้มีสิทธิบัตรแค่ฉบับเดียว กรณียาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ก็ยังมีคำขอสิทธิบัตรหลายฉบับค้างอยู่ในระบบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ถ้ารัฐบาลไทยไม่ได้ประกาศมาตรการซีแอลในครั้งนั้นจะทำให้เกิดปัญหามาก และผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอาจไม่มีโอกาสได้ใช้ยาตัวนี้”

เฉลิมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร และเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์เพียง 15-30 วัน แต่น่าเสียดายที่ข้อเสนอของภาคประชาชนและนักวิชาการต่างๆ ไม่ได้ถูกนำไปพิจารณา โดยเฉพาะเงื่อนไขในการประกาศมาตรการซีแอลของรัฐจะทำได้ยากขึ้น

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าวเสริมว่า ปัญหายาราคาแพงคือปัญหาใหญ่ของระบบยาในประเทศไทย แม้ว่า พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 จะประกาศให้ยาเป็นสินค้าควบคุมราคา แต่กลับไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมราคายา ทำให้ยาจากบริษัทต่างชาติที่ผูกขาดสิทธิบัตรสามารถคิดราคาได้ตามใจชอบ

ทางด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ยาหนึ่งตัวนั้นไม่ได้มีสิทธิบัตรเพียงใบเดียว โดยกลยุทธ์ของบริษัทยาขนาดใหญ่จะใช้วิธีการพยายามยืดอายุสิทธิบัตรเพื่อให้ผูกขาดได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น ระบบสิทธิบัตรที่ดีจะต้องไม่คุ้มครองสิทธิผู้จดสิทธิบัตรจนเกินเลยหรือละเมิดสิทธิของประชาชน

กรรณิการ์ระบุด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามเร่งรัดเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ FTA ไทย-สหภาพยุโรป และการเข้าร่วมภาคีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเนื้อหาในข้อตกลงทั้งสองฉบับจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในการประกาศใช้มาตรการซีแอล การขยายอายุสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยา และการบังคับใช้กฎหมายที่เกินเลย

“เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตและส่งออกยาได้ เราอาจไม่ได้ใหญ่โตเท่าอินเดีย แต่อุตสาหกรรมนี้ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญในการเข้าถึงยาจากกรณีไวรัสโคโรนา รัฐก็ควรคำนึงถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมาย การควบคุมราคายา และการควบคุมคุณภาพการออกสิทธิบัตร รวมถึงการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศไทยอาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ”