สมัชชาเปิดความก้าวหน้าคุ้มครองผู้บริโภค ไม่รอรัฐ-กฎหมาย ลุยเอง

     ประชุมสมัชชาผู้บริโภค เปิดผลการทำงานก้าวสู่ปี 2 ดันสำเร็จ ยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินทางเอทีเอ็ม, ร่วมมือห้างใหญ่เข้มงวดสารเคมีตกค้างในผัก, ปรับปรุงกฎหมายให้มูลนิธิผู้บริโภคเป็นผู้แทนฟ้องร้องผู้ประกอบการได้ ชูโมเดลสิงคโปร์ให้ผู้ประกอบการที่ถูกฟ้องออกค่าใช้จ่าย

     28 เมษายน 2557 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในงานประชุมสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 “ร่วมตรวจสอบ เสนอแนะ แสดงพลังผู้บริโภค” มีผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คนจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 72 จังหวัด กลุ่มผู้เสียหาย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจทั่วไป

     น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวเปิดงานว่า งานวันนี้เป็นการรวมพลคนรักษาสิทธิประจำปีก่อนจะถึงวันที่ 30 เมษายนซึ่งถูกกำหนดเป็นวันผู้บริโภคไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เสียงส่วนใหญ่คือ “ผู้บริโภค” ไม่เคยเสียงดัง เท่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าสภาอุตสาหกรรม สมาคมหอการค้า สมาคมธนาคารไทย

     “วันนี้เรามาทวงสิทธิ ไม่ใช่ร้องขอสิทธิ เราไม่รอกฎหมายอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เราจะเดินหน้า เราจะต่อสู้ของเราเอง เพราะสิทธิผู้บริโภคคือสิทธิพลเมือง คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน เป้าหมายของเราคือทำให้ผู้บริโภคทุกคมีความรู้และสามารถปกป้องสิทธตนเองได้” บุญยืนกล่าวและว่า ภาคประชาชนได้คัดเลือกและจัดตั้ง ‘คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน’ ขึ้นเองแล้ว หลังจากรัฐบาลได้ยุบสภาไปโดยที่ ร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ… ที่ประชาชนรวบรวมรายชื่อเสนอค้างอยู่ในวาระที่ 3 ของผู้แทนราษฎร

     นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลสื่อยอดเยี่ยมให้แก่สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “ผู้บริโภครวมตัวร้องเรียนกรณีระบบเกียร์ของรถเชฟโรเล็ทออกอากาศทางช่อง TPBS 9 ตอน” จัดทำโดยวรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

     น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันเรื่องต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาว่า การจัดการเรื่องการโฆษณาในเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชนนั้น เห็นความพยายามและความร่วมมือระหว่าง กสทช. องค์การอาหารและยา (อย.) และตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดจะจัดการปัญหาที่ได้รับร้องเรียนภายใน 7 วัน, ด้านการรักษาพยาบาล นโยบายเกี่ยวกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นกำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิที่ใดก็ได้หากมีเหตุอันควร แม้เป็นความก้าวหน้าทางนโยบายแต่มีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก รพ.เอกชนหลายแห่งยังไม่รับเงื่อนไขนี้ เนื่องจากราคาที่ สปสช.จ่ายให้ยังไม่เป็นที่พอใจ จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ผู้บริโภคต้องทำให้ รพ.เอกชน 100-200 แห่งนี้เข้ามาอยู่ในระบบสุขภาพมากขึ้น และออกกฎให้รพ.เอกชนสำรองเตียงฉุกเฉินไว้ 20% ด้วย เพื่อเป็นการรับผิดชอบระบบสุขภาพของประเทศร่วมกัน

 

     สารีกล่าวถึงความก้าวหน้าอีกเรื่องว่า ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอนุญาตให้สมาคมหรือมูลนิธิฟ้องคดีแทนได้ แต่ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ออกมาว่าจะต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ขอเสนอสิ่งที่ท้าทายต่อไปเลยว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีประสบการณ์การฟ้องคดีมาประมาณ 500 คดีพบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพียงค่าทนายอาสาไปศาลก็สูงถึง 600 บาทต่อครั้ง จึงเห็นควรให้มีกลไกสนับสนุน โดยขอเสนอโมเดลของสิงคโปร์ที่กำหนดว่า หากบริษัทใดถูกร้องเรียนให้บริษัทนั้นจ่ายเงินในการไกล่เกลี่ยให้กับองค์กรผู้บริโภคที่ดำเนินการด้วย

     เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า ยังมีความก้าวหน้าด้านอื่นๆ เช่น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินทางอินเตอร์เน็ตหรือเอทีเอ็ม ความตื่นตัวเรื่องการไม่ยืนบนรถตู้ ความไม่ปลอดภัยของรถทัวร์สองชั้น นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในเชิงการทำงานกับภาคเอกชนมากพอควร เช่น ความร่วมมือกับบริษัททรู ในการกำกับค่าบริการในต่างประเทศ หรือกรณีสารเคมีตกค้างในผัก มีความร่วมมือกับผู้ค้ารายใหญ่หลายเจ้า ทุกบริษัทรับปากว่าจะพยายามกำกับอย่างเข้มข้นไม่ให้มีสินค้าที่ใช้สารเคมีที่ถอนทะเบียนแล้ว, พยายามหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีสารเคมีที่เป็นอันตราย 7 ตัว, ผลักดันการออกค่ามารตรฐานสารเคมีตกค้าง

     รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผอ.สถาบันวิจัยสังคม และ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภค (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดำเนินการของภาครัฐ โดยแบ่งเป็นเรื่องที่มีความคืบหน้า เช่น การยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรที่อันตราย, การพัฒนามาตรฐานรถตู้สาธารณะ เรื่องที่หน่วยงานรัฐไม่กระตือรือร้น เช่น การแบนแร่ใยหินในอุตหสาหกรรม เรื่องที่ได้รับการต่อต้าน คือ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ที่ภาควิชาชีพยังต่อต้านมาก และ พ.ร.บ.ยา ซึ่งไปเกี่ยวพันกับภาคธุรกิจ

     น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผอ.สถานีวิทยุจุฬาฯ กล่าวถึงความไม่คืบหน้าในด้านสื่อ โดยเฉพาะบทบาท กสทช. ซึ่งกำหนดว่าจะจัดสรรคลื่น 20% ให้ประชาชน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นภาคประชาชนเรียกร้องสิทธิ 20% ของตัวเอง ไม่เคยทวงถามใบอนุญาตที่ไม่ยังเกิดขึ้นเสียที กรณีคลื่นความถี่เดิมของวิทยุ 500 กว่าคลื่นในภาครัฐก็ยังไม่เห็น กสทช.เรียกคืนคลื่นได้สักคลื่น การประมูลคลื่นความถี่ของภาคธุรกิจที่ประมูลไปแล้ว ประชาชนก็เข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก ขณะที่ธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของ กสทช. ก็ยังไม่มีความก้าวหน้าทั้งที่เป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบการทำงาน

     ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า ขณะที่คนทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมักถูกฟ้องจากผู้ประกอบการ แต่ผู้บริโภคที่ถูกหลอกจะไปร้องเรียนผู้ประกอบการนั้นยากมาก ทั้งที่ปัญหาการเงินการธนาคาร มีความรุนแรง เร่งด่วนและส่งผลกระทบต่อสังคมกว้างมาก เช่น กรณีสัมพันธ์ประกันภัยล้ม ก่อนจะล้มเล็กน้อยคนก็ยังทำประกันเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ข่าว เรื่องของหน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่ชัดเจนเพราะธุรกิจการเงินนั้นซับซ้อนมาก ทำให้หลายเรื่องยังคงมีช่องโหว่ในการดูแลจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังก็ตาม ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานกำกับดูแลแล้วเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแลแล้ว นอกจากนี้บทบาทของท้องถิ่นก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึน และเป็นอีกกลไกหนึ่งน่าจับตาในการไกล่เกลี่ยปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่

     ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2557 โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)