ปิดท้ายอย่างสวยงาม “โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ” ด้วยทีม อสม. นักวิทย์ฯ เมืองคอน

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้การสนับสนุนของ คคส. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด” ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องบงกชรัตน์ 1-2 โรงแรมทวินโลตัส อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้เกิดเครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับตำบลครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป้าหมายเน้นสร้างทีมบุคลากรที่สำคัญ ได้แก่ แกนนำ อสม.นักวิทย์ฯ ประจำตำบลๆ ละ 2 คน  และเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงในศูนย์เฝ้าระวังฯ ที่จัดตั้งขึ้น ณ รพ.สต. โดยในเบื้องต้นนำร่อง จำนวน 100 แห่ง กระจายในทุกอำเภอ โดยมีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทั้ง 23 อำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นจุดเชื่อมประสานของเครือข่าย

การจัดอบรมได้รับเกียรติจากนายแพทย์บัญชา ค้าของ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประธาน ทำให้เจ้าหน้าที่ทีมพี่เลี้ยงทั้ง รพ.สต. สสอ. และ อสม. ได้รับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนนครศรีธรรมราชสู่ต้นแบบงานด้านสาธารณสุข (PP & P Excellence) การอบรมเน้นการทำความเข้าใจการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง
รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเตือนภัยระดับตำบล โดยเริ่มต้นจากสมัครเข้าใช้งานในหน้าต่างเตือนภัย (www.tumdee.org/alert) และมีทีมงานซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่งาน คบส. ของ รพ.สต. และแกนนำ อสม.นักวิทย์ฯ ซึ่งได้รับการฝึกฝนในเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยาสมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง ผ่านหน้าต่างเตือนภัยและการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น เพื่อนำความรู้ไปใช้งานในชุมชนของตนเอง เมื่อเห็นผลว่าชุมชนมีเครื่องสำอางหรือยาที่ปนเปื้อนสารอันตราย ก็เกิดความตระหนักของการจัดตั้งศูนย์แจ้งเตือนภัย และวางแผนต่อยอดแก้ไขปัญหาพัฒนาสู่ต้นแบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยกตัวอย่าง เช่น  รพ.สต.โมคลาน อ.ท่าศาลา มีการสำรวจผลิตภัณฑ์สุขภาพ และพบว่ามีปัญหาพบการการใช้ยาสมุนไพรผสมสเตียรอยด์ แกนนำ อสม. ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ จึงได้จัดทำโครงการจิตอาสาโมคลาน เพื่อให้ค้นหาสาเหตุ ที่มา และให้ความรู้แก่คนในชุมชน ให้ตระหนักถึงพิษภัยของผลิตภัณฑ์ที่อันตรายผสมยาสเตียรอยด์ ไม่หลงเชื่อโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชยังมีการรวมกลุ่มสื่อสารงานกันในกลุ่มไลน์ อสม.นักวิทย์ เมืองคอน และมีเครือข่ายศูนย์แจ้งเตือนภัย 201 แห่ง เป็นระดับตำบล 133 แห่ง และเป็นระดับอำเภอและจังหวัดรวม 68 แห่ง

ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้จัดอบรมขับเคลื่อนเครือข่ายฯ ครบทั้ง 4 จังหวัดแล้ว ซึ่งกิจกรรมต่อไปจะต้องติดตาม ประเมินผลการขยายเครือข่าย อสม.นักวิทย์ฯ ในระดับหมู่บ้าน และการจัดตั้งทีมงาน อสม.นักวิทย์ฯ ในศูนย์แจ้งเตือนภัย ณ รพ.สต. เพื่อให้เกิดชุมชนต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กระตุ้นให้หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่รับผิดชอบได้สมัครเข้าเป็นเครือข่ายศูนย์เฝ้าระวังฯ มุ่งหวังให้ครบร้อยละ 100 ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560