แถลงข่าว “สระบุรี ของดี กะหรี่ดัง ปลอดสารโพลาร์” ณ ตลาดน้ำดาวเรือง ต.ดาวเรือง อ.เมืองสระบุรี
(7 ก.พ.57) โครงการสระบุรี ของดี กะหรี่ดัง ปลอดสารโพลาร์ ภายใต้การสนับสนุนของ คคส. จัดแถลงข่าว “สระบุรี ของดี กะหรี่ดัง ปลอดสารโพลาร์” ณ ตลาดน้ำดาวเรือง ต.ดาวเรือง อ.เมืองสระบุรี โดยจังหวัดสระบุรี เดินหน้ายกระดับคุณภาพของฝากยอดนิยม กะหรี่ปั๊บ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคทั่วไป
ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์ให้แม่ค้าพ่อค้าที่จำหน่ายของทอด ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหาร และไม่ใช้น้ำมันที่ถูกรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ หรือใช้น้ำมันทอดซ้ำกันหลายๆครั้ง จนเกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ผู้ขายเองก็ได้รับอันตรายจากการสูดดมถึงขั้นเป็นมะเร็งเช่นกัน
โดยจังหวัดสระบุรีได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหารจำหน่ายของผู้ลิตหรือขายอาหาร พร้อมแนะนำผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารทอดให้สังเกตจากป้ายรับรองมาตรฐาน และมีนโยบายขยายพื้นที่การทำงานจาก 2 อำเภอ (อ.เมือง และ อ.มวกเหล็ก) สู้ 13 อำเภอ ในจังหวัดสระบุรี
ศึกษาดูงานและประชุมเรื่อง ความร่วมมือในการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ณ สระบุรี
(10 เม.ย.57) ศึกษาดูงานและประชุมเรื่อง ความร่วมมือในการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ณ โครงการจัดตั้งสำนักงานจัดการพื้นที่จุฬาฯ-สระบุรี อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลแก่งคอย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อศึกษาดูงานเครื่องผลิตไบโอดีเซล ณ โครงการจัดตั้งสำนักงานจัดการพื้นที่จุฬาฯ-สระบุรี และประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในจังหวัดสระบุรี โดยมีผู้ร่วมศึกษาดูงานและประชุม จาก คณะทำงานสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ส่วนราชการจังหวัดสระบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลแก่งคอย ประมาณ 30 คน
เสวนา “ปฏิรูปการคุ้มครองสุขภาพคนไทย ยกเลิกแร่ใยหิน” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์
(28 มี.ค.57) แผนงาน คคส.ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย(T-BAN) และสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.)จึงได้จัดการเสวนา “ปฏิรูปการคุ้มครองสุขภาพคนไทย ยกเลิกแร่ใยหิน” ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ มีผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวน 50 คน
วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนามีดังนี้ 1)เพื่อเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สาธารณชนรับทราบ 2)เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนานโยบายขจัดโรคจากแร่ใยหินในประเทศไทย 3)เพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายขจัดโรคจากแร่ใยหิน
โดยมีนักวิชาการจาก เครือข่าย T-BAN ร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ การแปรรูปเจตนารมณ์ มติ ครม. สถานการณ์แร่ใยหินในประเทศไทย อันตรายเชิงประจักษ์ของแร่ใยหินและความเข้าใจผิด (คนป่วยในไทย จำเป็นหรือไม่ที่ต้องรอ) และเจตนารมณ์คนไทยกับแร่ใยหิน
ประชุมวิชาการ เรื่อง “การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยในระดับจังหวัดและระดับภาค
(13-14 มี.ค.57) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการ เรื่อง “การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยในระดับจังหวัดและระดับภาค”ณ ริชมอนด์ บอลลูม โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี
เพื่อให้ผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัดเข้าใจการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย (Issue Prioritization) และได้แนวทางความร่วมมือกันในระดับภาคในการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยเภสัชกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 แห่งๆละ 2 คน รวมจำนวน 120 คน
ผลจากการประชุม เภสัชกรจังหวัดสามารถนำหลักเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยไปใช้ในการดำเนินการในระดับจังหวัด
ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ไม่เหมาะสมทางสื่อวิทยุกระจายเสียงวิทยุ ณ โรงแรมธนินทร กรีนปาร์ค จังหวัดร้อยเอ็ด
(25 มี.ค.57) สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับ อย. กสทช. ภาครัฐ เอกชน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงในจังหวัดร้อยเอ็ด รวม 14 หน่วยงาน ได้จัดเวทีสัมมนา เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโฆษณาที่ไม่เหมาะสมทางสื่อวิทยุกระจายเสียงวิทยุ ณ โรงแรมธนินทร กรีนปาร์ค จังหวัดร้อยเอ็ด
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้โครงการการจัดการปัญหาการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จังหวัดร้อยเอ็ด (คคส.) หวังชูร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดนำร่อง โดยมีเภสัชกร ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธาน
ร่วมด้วย นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดร่วมในการสัมมนาในครั้งนี้ด้วย
การจัดเวทีสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้ที่เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย เครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงจำนวน 150 คน ตัวแทน อสม.อำเภอละ 1 คน จาก 20 อำเภอ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 20 คน เภสัชกรจากโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 20 คน สมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ดจำนวน 10 คน และจากองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 30 คน รวมทั้งสิ้น 250 คน