กิจกรรมของ คคส. ในเดือนพฤษภาคม 2557 (14 เม.ย.-12 พ.ค.57)
การประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2557
(28-29 เม.ย.57) คณะกรรมการองค์การอิสาระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2557 “ร่วมตรวจสอบ เสนอแนะ แสดงพลังผู้บริโภค”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคีเครือข่าย (1) ทราบสถานการณ์และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (2) ร่วมติดตามการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่างๆ (3) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค และ (4) ร่วมรณรงค์วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย
มีผู้ร่วมประชุมประมาณ 500 คน ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 72 จังหวัด เครือข่ายผู้บริโภค้านต่างๆ กลุ่มผู้เสียหายที่ใช้สิทธิทั้ง 7 ด้าน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สือมวลชน และ คณะกรรมการและอนุกรรมการองค์การอิสระฯ 7 ด้าน
โดยมีรูปแบบการจัดงานคือ 1) บรรยายและอภิปราย 2) เวทีวิชาการ 3) เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 4) นิทรรศการผลงานของเครือข่ายในการคุ้มครองผู้บริโภคยอดเยี่ยม และ 5) มอบโล่หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค สารคดีเชิงข่าวคุ้มครองผู้บริโภคจากสถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ และผู้บริโภคยอดเยี่ยมประจำปี 2556 ซึ่งในวันที่ 28 เมษายน 2557 รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นวิทยากร ร่วมอภิปราย “ความก้าวหน้าและปัญหาของหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคในรอบปีที่ผ่านมา”
ผลจากการประชุมนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและกำหนดทิศทางในการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลสื่อยอดเยี่ยมให้แก่สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “ผู้บริโภครวมตัวร้องเรียนกรณีระบบเกียร์ของรถเชฟโรเล็ทออกอากาศทางช่อง TPBS 9 ตอน” จัดทำโดยวรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
เวทีสมัชชาแรงงาน เรื่อง “การยกเลิก แร่ใยหิน ถึงข้อเรียกร้องสถาบันความปลอดภัยฯ”
(10 พ.ค.57) ด้วยคณะทำงานฯ จัดงานวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครบรอบ 21 ปี ประกอบด้วย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แผนพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน นักวิชาการ และเครือข่ายผู้นำแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ”
ได้มีมติร่วมกันในการจัดงาน เวทีสมัชชาแรงงาน เรื่อง “การยกเลิก แร่ใยหิน ถึงข้อเรียกร้องสถาบันความปลอดภัยฯ” เพื่อที่จะทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ที่เป็นสารก่อมะเร็งเยื้อหุ้มปอด มะเร็งปอด โดยแฝงมากับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้อยู่และเกี่ยวข้อง ณ ห้องทองกวาว จามจุรี ชั้น 1 โรงแรมทีเค พาเลซ (TK Palace Hotel) ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ซึ่งภายในงานมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน โดยขอให้รัฐบาลดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 เมษายน 2554 งดนำเข้าและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินทันที พร้อมขอให้ชะลอการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่กระทรวงแรงงานขาดการมีส่วนร่วม และให้เปิดเวทีทบทวนเนื้อหาของร่างกม.ฉบับผู้ใช้แรงงานและเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงร่างกม.ฉบับ คปก.นอกจากนี้ขอให้พัฒนาระบบการวินิจฉัยโรค รักษาเยียวยาผู้ป่วย จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และเผยแพร่พิษภัยแร่ใยหินด้วย
(30 เม.ย.57) เข้าร่วมจัดนิทรรศการและเป็นวิทยากรกระบวนการในงาน สัมมนาเครือข่ายและแกนนำคุ้มครองผู้บริโภค จ.ยโสธร ประจำปี 2557 เนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทาง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาฯ โดยมี นพ.สุใหญ่ หลิ่มโตประเสริฐ นพ.สสจ.ยโสธร เป็นประธาน มีการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการประกวด สปอตวิทยุรณรงค์การคุ้มครองผู้บริโภค และได้มีการเสวนาแนวทางการดำเนินงานพัฒนาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ยโสธร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความเข้มแข็ง ประชาชนมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ และในนามของโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอเส้นทางน้ำมันทอดซ้ำ ฐานข้อมูลและการประเมินสถานการณ์ข้อเสนอแนะที่พร้อมต่อการนำเสนอต่อสาธารณะ และมีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมเผื่อจะนำความเห็นที่ได้รับและข้อมูลทางวิชาการที่ทางคณะทำงานในโครงการฯ ได้นำเสนอ ได้รับทราบข้อเท็จจริงและนำไปเผยแพร่ ทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินงานตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ที่ได้เข้าชมนิทรรศการในครั้งนี้
โครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ
(7 พ.ค.57)จัดอบรมชี้แจงการดำเนินงานโครงการปฏิวัติน้ำมันทอด ณ เทศบาลตำบลสามแยก อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ให้กับผู้นำชุมชน อสม. และผู้ประกอบการร้านค้าในตลาดสด จำนวน 4 ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสามแยก เพื่อรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างการเปลี่ยน พฤติกรรมไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพประกอบอาหารในครัวเรือน และประกอบอาหารจำหน่ายในตลาดสด เพื่อหยุดเส้นทางการใช้น้ำมันทอดซ้ำที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยทางเทศบาลได้จัดจุดรับแลกน้ำมันเก่า 4/1 (น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ 4 ขวด แลกน้ำมันใหม่ 1 ขวด) และได้จัดทำสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ป้าย รถแห่ หอกระจายข่าว เพื่อให้ประชาชนในเขตเทศบาลรับทราบการดำเนินงาน และสร้างกระแสตื่นตัวรวมดำเนินโครงการให้มากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลฯ ได้ร่วมดำเนินการและสาธิตการทำน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เพื่อเป็นทางออกของการจัดการน้ำมันที่เสื่อมสภาพ