แผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พัฒนาเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัยที่เป็นปัญหาหลัก มาดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย ประกอบด้วย เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงและเกณฑ์การประเมินความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง คคส.ได้ร่างเกณฑ์โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง และได้มีการนำไปทดลองใช้ในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อนำมาปรับปรุงเกณฑ์อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้นำเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยไปใช้ในการจัดลำดับปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัยในจังหวัด และร่วมกับ คคส.ในการจัดการแก้ไขปัญหาที่ค้นพบ
คคส. เห็นว่า คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นกลไกคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความสำคัญในระดับอำเภอ จึงจัดทำคู่มือการใช้เกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัย เพื่อให้เภสัชกร สาธารณสุขอำเภอ นักวิชาการสาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชน มีความเข้าใจและสามารถนำเกณฑ์ดังกล่าว ไปใช้ประกอบการค้นหาปัญหา คัดเลือกปัญหาสำคัญ และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริงของผู้บริโภคต่อไป